ปัจจุบันพนักงานออฟฟิศทุกคนมีความเสี่ยง “ออฟฟิศ ซินโดรม” โดยที่ตัวเองไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ สาเหตุหลัก ๆ ก็จะมาจากพฤติกรรมการทำงานของเรา ๆ ท่าน ๆ นั่นแหละครับ ทั้งการใช้คอมพิวเตอร์วันละหลายๆ ชั่วโมง การอดอาหาร อดหลับอดนอนเพื่อทำงานให้เสร็จ ทำให้ร่างกายต้องแบกรับภาระความติงเครียดมากกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ส่งผลร้ายต่อร่างกาย ซึ่งที่เห็นกันบ่อย ๆ ก็จะมี
1. ไมเกรน หรือปวดศีรษะเรื้อรัง เกิดจากการเกร็งตัวสะสมของกล้ามเนื้อบริเวณคอและไหล่ จนจับเป็นก้อน หรือที่เรียกว่า “จุดกดเจ็บ” จุดดังกล่าวจะไปกดทับเส้นเลือดที่จะนำเอาออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงสมอง ทำให้สมองไม่ได้รับเลือดและออกซิเจนในปริมาณที่เพียงพอ จึงเกิดอาการปวดศีรษะขึ้น
วิธีป้องกัน ควรพักผ่อนให้เพียงพอ บริหารกล้ามเนื้อบริเวณบ่าและคอให้ยืดหยุ่นอยู่เสมอ เปลี่ยนอริยาบถในการทำงานบ้างเพื่อลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ หรืออาจจะไปปรึกษาเเพทย์อายุเวทเพื่อทำการกดจด
2. ภาวะเสียสมดุล เกิดจากการนั่งทำงานผิดวิธีหรือทำงานในลักษณะซ้ำ ๆ อยู่ตลอดทั้งวัน ทำให้ปวดหลังเรื้อรัง ปวดคอ ชา หรือแขนขาไม่มีแรง ถ้าละเลยอาจรุนแรงจนถึงขั้นทับเส้นประสาทกลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
วิธีป้องกัน ยืดหยุ่นร่างกายทุก ๆ 1 – 2 ชั่วโมงที่นั่งทำงาน ไม่ควรอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานเกินไป ความเพิ่มการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบริเวณกระดูกสันหลัง ทั้งเดิน ยืน นั่ง นอน หรือจะปรึกษานักกายภาพบำบัดเพื่อปรับโครงสร้างร่างกายครับ
3. กระดูกสันหลังคดงอ และปวดหลังเรื้อรัง คนที่นั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์วันละมากกว่า 8 ชั่วโมงต้องระวังในข้อนี้ รวมไปถึงสาว ๆ ที่ชอบใส่รองเท้าส้นสูงด้วยนะ เพราะร่างกายจะมีการสะสมความอ่อนเพลียและความเมื่อยล้าเอาไว้ ส่งผลให้มีอาการปวดหลังเรื้อรัง และกระดูกสันหลังคดงอในที่สุด
วิธีป้องกัน ควรออกกำลังกายด้วยพิลาทิสโดยมีผู้เชี่ยวชาญดูแล เพราะมีส่วนช่วยให้กล้ามเนื้อยืดหยุ่นได้ดี ช่วยบรรเทาอาการปวดหลังให้ลดลงได้ การหารองเท้าแตะไว้เปลี่ยนในออฟฟิศก็เป็นอีกทางหนึ่งที่พอช่วยได้
4. ปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ เกิดจากการยึดจับเมาส์คอมพิวเตอร์ในท่าเดิม ๆ เป็นเวลานาน ทำให้กล้ามเนื้อกดทับเส้นประสาทและเส้นเอ็นจนอักเสบ เกิดพังผืดยึดจับบริเวณนั้นเป็นจำนวนมาก
วิธีป้องกัน ผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณมือและข้อมือทุก ๆ 15 – 20 นาที
5. โรคประสาทหูเสื่อม เกิดจากค่านิยมในการฟังเพลงเสียงดัง เป็นเวลานาน ๆ อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคประสาทหูเสื่อมได้
วิธีป้องกัน ถ้ารู้สึกว่าได้ยินเสียงลดลง ได้ยินไม่ชัด ต้องตั้งใจฟัง หรือให้คู่สนทนาพูดซ้ำอยู่บ่อย ๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจหาสาเหตุความบกพร่องทางการได้ยิน พร้อมรับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
รู้ถึงสาเหตุและวิธีป้องกันของแต่ละโรคก็อย่าลืมดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีอยู่เสมอนะครับ (การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ)
ที่มา: a day bulletin, issue 45 (29 May – 4 June 2009,page.20)